เผย 7 ข้อดีของ IIoT ที่ชี้ชัดว่าทำไมอุตสาหกรรมการผลิตควรยกระดับ

 Industrial IoT หรือ IIoT ถือเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในระบบอุตสาหกรรม 4.0 เพราะเป็นสิ่งที่จะช่วยเชื่อมโยงเครื่องจักรการผลิต เทคโนโลยีไอที และทรัพยากรบุคคลเข้าไว้ด้วยกัน ให้ทั้งหมดสามารถทำงานประสานกันได้อย่างลงตัวและเป็นหนึ่งเดียว

   จุดนี้ถือเป็นภาพกว้าง ๆ ของ IIoT ที่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมพอจะมองออกกันอยู่แล้ว แต่หากจะมองข้อดีหรือประโยชน์ของ IIoT ที่มีต่อธุรกิจอุตสาหกรรมในเชิงลึกแล้ว เทคโนโลยีนี้จะมีความพิเศษอย่างไร และจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตได้อย่างไรบ้าง ครั้งนี้จะมาเผย 7 ข้อดีของ IIoT ที่มีต่ออุตสาหกรรมการผลิตให้ทุกท่านได้ทราบกัน

   1. ผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การผลิตในแบบ Industry 4.0 ต้องไม่ใช่แค่การเน้นปริมาณ แต่สินค้าที่ผลิตออกมาจะต้องได้มาตรฐานและตรงกับความต้องการของตลาดด้วย ซึ่งถ้ามีการพัฒนาแพลตฟอร์ม IIoT นำมาใช้งานในการผลิตและเชื่อมโยงการทำงานบนเครือข่าย ที่มีประสิทธิภาพ เสถียรและรวดเร็ว ก็จะทำให้ระบบ Sensor หรือ Controller ของเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์การผลิตนั้นตอบสนองในการผลิตได้อย่างแม่นยำมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้สินค้าที่ผลิตออกมามีมาตรฐานที่ดีมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

   2. วางแผนการผลิตได้ง่ายมากขึ้น Industry 4.0 เป็นยุคที่การผลิตต้องเกิดขึ้นภายใต้ “ข้อมูล” ในทุกกระบวนการผลิตจะต้องมีข้อมูลเป็นฐานในการขับเคลื่อน หากผู้ผลิตมีการวางโครงสร้างทางด้านไอทีมาอย่างลงตัวแล้ว มีเทคโนโลยี Cloud ที่ทำงานอยู่บนสถาปัตยกรรมเครือข่าย 5G ที่เหมาะสมกับภาคอุตสาหกรรมโดยตรง อย่างระบบ MEC (Multi-Access Edge Computing) และเชื่อมต่อการทำงานกับเครื่องจักรการผลิตบนแพลตฟอร์ม IIoT ก็จะทำให้วางแผนการผลิตง่ายขึ้น ตั้งแต่ ก่อนเริ่มการผลิตที่ผู้ผลิตจะต้องมีข้อมูลความต้องการของตลาดที่อัปเดตแบบเรียลไทม์ เพื่อวางแผนคำนวณความสามารถในการผลิตในแต่ละครั้ง ว่าความสามารถในการดำเนินการของเครื่องจักร ทั้งอัตราความเร็วในการผลิตและระยะเวลาที่ต้องใช้นั้นอยู่ที่เท่าไหร่ ขณะดำเนินการผลิตสามารถที่จะมอนิเตอร์การผลิตที่ไซต์งานต่าง ๆ ได้ตลอดเวลารวมไปถึงตรวจจับคาดการณ์ความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการผลิตได้ทันที ทำให้สามารถที่จะปรับเปลี่ยนแผนการผลิตได้ทันเวลา รวมถึงยังพอที่จะคาดการณ์ได้ว่าหากจำเป็นต้องหยุดการผลิตไปชั่วขณะจริง ๆ จะต้องหยุดนานแค่ไหน และจะกลับมาผลิตต่อได้ตามเดิมเมื่อใด หลังการผลิตเครื่องจักรการผลิตที่ทำงานแบบ IIoT จะมี Sensor ที่ช่วยในการเก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นขณะทำการผลิตเอาไว้และจะทำการส่งข้อมูลเหล่านี้ไปไว้ในระบบฐานข้อมูล ข้อมูลเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อบุคลากรที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลระบบ เพราะจะทำให้ทราบได้ว่ามีความผิดพลาดตรงไหนเกิดขึ้นบ้าง หรือคาดการณ์ได้ว่าควรจะเริ่มกระบวนการบำรุงรักษาเครื่องจักรในช่วงไหน

   3. ลดความผิดพลาดในการผลิตได้มากขึ้นการผลิตในรูปแบบของ Industry 3.0 นั้นยังต้องอาศัยบุคลากรด้านแรงงานและผู้เชี่ยวชาญอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ด้วยขีดจำกัดในการทำงาน ทำให้ไม่สามารถที่จะควบคุมดูแลเครื่องจักรการผลิตได้ตลอดทุกช่วงเวลา ความผิดพลาดจึงอาจเกิดขึ้นตอนไหนก็ได้ ยิ่งถ้าเป็นช่วงเวลาที่ต้องเร่งการผลิตเพื่อให้ทันต่อความต้องการ บางองค์กรต้องเดินหน้าผลิตกันตลอด 24 ชั่วโมง จำเป็นที่จะต้องให้พนักงานสลับสับเปลี่ยนกันมาช่วยควบคุมดูแลเครื่องจักร ก็จะส่งผลให้องค์กรต้องลงทุนในเรื่องของบุคลากรเพิ่มเติมเพื่อลดความผิดพลาด แต่ถึงอย่างไรความผิดพลาดก็ยังมีอยู่ เพราะความเชี่ยวชาญของแต่ละคนไม่เท่ากันแต่ถ้าอุตสาหกรรมการผลิตยกระดับมาใช้ระบบ IIoT ในการผลิตก็จะลดความผิดพลาดในการผลิตลงได้มาก เพราะเครื่องจักรต่าง ๆ จะสามารถสื่อสารเชื่อมโยงถึงกันและสามารถดำเนินการผลิตเองได้แบบอัตโนมัติ และเมื่อควบคุมด้วยเทคโนโลยีจึงทำให้เกิดความผิดพลาดน้อยมาก

   4. ช่วยให้การผลิตมีความปลอดภัยมากขึ้น อุบัติเหตุและเหตุไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตนั้น ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากความผิดพลาดของอุปกรณ์ อาจจะเป็นที่เครื่องจักรเอง หรือไม่ก็ระบบควบคุมต่าง ๆ ที่ชำรุดเสียหายจนทำให้ไม่สามารถควบคุมเครื่องจักรได้ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย แต่ปัญหานี้จะถูกแก้ไขในทันทีเมื่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตเปลี่ยนมาใช้ระบบ IIoT เข้าช่วย เมื่อมีปัญหา Downtime หรือเครื่องจักรหยุดทำงาน Sensor ก็จะยังมีการบันทึกและแจ้งเตือนให้ผู้ควบคุมได้รู้เพื่อสามารถเข้าแก้ไขปัญหาได้ทัน จึงทำให้การผลิตมีความปลอดภัยมากขึ้น

   5. ประหยัดพลังงานได้มากขึ้น อุปกรณ์หรือส่วนจำเป็นที่ต้องใช้พลังงานขับเคลื่อนในอุตสาหกรรมการผลิต เช่น ระบบปั๊ม ระบบคอมเพรสเซอร์ ระบบระบายความร้อน และระบบวาล์วควบคุมแรงดันต่าง ๆ เป็นต้น อุปกรณ์และส่วนต่าง ๆ เหล่านี้ ต้องใช้น้ำมัน ใช้ไฟฟ้าและพลังงานที่ได้จากความร้อนเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ถือว่าเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นในการผลิต และในแต่ละปีอุตสาหกรรมการผลิตก็ต้องมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเหล่านี้เป็นจำนวนมาก แต่หากว่ามีการนำระบบ IIoT เข้ามาใช้ ระบบนี้จะเชื่อมโยงการทำงานกับอุปกรณ์ต่าง ๆ บนเครือข่าย internet ระบบการทำงานแทบทุกขั้นตอนจึงเป็นไปอย่างอัตโนมัติ ระบบใดต้องใช้งานก็จะเปิดระบบเองโดยอัตโนมัติ และจะปิดระบบเองทันทีเมื่อไม่มีการใช้งาน ก็จะช่วยประหยัดเรื่องของการใช้พลังงานได้มากขึ้น เท่ากับช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานของธุรกิจไปด้วย

   6. เพิ่มประสิทธิภาพการบำรุงรักษาโดยไม่กระทบต้นทุน การบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายอีกด้านหนึ่งที่สูงมากในแต่ละปี ซึ่งบางครั้งผู้ประกอบการก็ไม่สามารถเข้าถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงฝืนใช้ไปจนอุปกรณ์เสียหายหนัก ก็กลายเป็นว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงที่แพงขึ้น ปัญหานี้จะหมดไปหากว่า ผู้ประกอบการมีการยกระดับนำระบบ IIoT เข้ามาใช้ ด้วยโซลูชันที่มีนั้นจะทำให้เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ แจ้งเตือนและรายงานผลการทำงานให้ผู้ควบคุมดูแลได้ทราบสถานะแบบเรียลไทม์ ผู้ควบคุมดูแลจึงสามารถที่จะรู้ล่วงหน้าถึงความเสียหาย และประเมินได้ว่าควรจะส่งซ่อมทันทีหรือต้องแก้ไขอย่างไร การนำเทคโนโลยี IIoT มาใช้งานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์(AI)เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการบำรุงรักษาเครื่องจักรการผลิตนั้น เรียกว่าการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ (Predictive Maintenance) คือนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ตรวจสอบวิเคราะห์สุขภาพของเครื่องจักรการผลิต เพื่อประเมินสภาพว่าปัจจุบันสภาพเครื่องจักรเป็นอย่างไร สามารถที่จะใช้งานต่อไปได้อีกนานแค่ไหน หากมีจุดที่เริ่มเสียหายหรือเสื่อมสภาพก็จะได้วางแผนสำหรับการซ่อมบำรุงไว้ล่วงหน้า McKinsey ได้เคยมีรายงานในเรื่องนี้ว่า เมื่ออุตสาหกรรมการผลิตได้มีการนำเทคโนโลยี IIoT มาปรับใช้กับการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ ก็จะทำให้อุตสาหกรรมลดปัญหาเรื่องเครื่องจักรการผลิตหยุดทำงานลงได้มากถึง 30 – 50% และยังเป็นการยืดอายุการใช้งานเครื่องจักรออกไปได้นานขึ้นถึง 20 – 40% [1]ตรงนี้ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตได้รับประโยชน์มากขึ้น ในขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเครื่องจักรไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

   7. รายงานแม่นยำ เเละการเเจ้งเตือนที่ทันต่อเหตุการณ์ช่วยให้การตัดสินใจมีประสิทธิภาพ ข้อดีอีกประการที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ของระบบ IIoT ก็คือ จะมีการรายงานผลในขั้นตอนต่าง ๆ ให้เราได้ทราบเสมอ ซึ่งจะเป็นการสรุปรายงานออกมาในรูปแบบ Dashboard ที่ดูง่ายทำความเข้าใจได้ในเวลาอันสั้น เป็นรายงานที่ถูกต้องแม่นยำ เชื่อถือได้ ทำให้ผู้ควบคุมดูแลหรือแม้กระทั่งผู้บริหารองค์กร สามารถนำไปใช้เพื่อตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ