งานอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์จำเป็นต้องรู้ Smart Logistics Lab: จาก Smart Warehouse สู่การจัดการโลจิสติกส์ด้วย Real-time Data Analytics การจัดการบริหารสินค้าคงคลัง (Inventory Management) สามารถช่วยให้ธุรกิจประหยัดเงินได้จำนวนมหาศาลหากสามารถจัดการให้สินค้าของเรามีไม่ขาดไม่เกิน หรือเรียกได้ว่าอยู่ในจุดที่พอเหมาะที่สุด (Inventory Optimization)
เมื่อคุณเป็นเจ้าของกิจการ พนักงานขาย พนักงานจัดซื้อ หรือพนักงานส่วนใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้า และถ้าคุณมีเงินลงทุนเหลือเฟือที่จะสั่งวัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้ามาเป็นจำนวนมากมาเก็บไว้ในคลังสินค้าของคุณ เพียงเพราะเห็นว่ายิ่งสั่งเยอะยิ่งราคาต่อหน่วยถูกลง มันก็คงไม่เป็นปัญหาอะไรถ้าเงินของธุรกิจของคุณมีเหลือล้นฟ้า
แต่ในโลกธุรกิจจริงไม่สามารถเป็นอย่างนั้นได้ การสั่งวัตถุดิบที่สั่งมากมายมาเก็บไว้นั้นย่อมมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาถ้าไม่รีบดำเนินการเข้ากระบวนการผลิตเป็นสินค้า ซึ่งก็ต้องมีการคำนวณเกี่ยวกับกำลังการผลิตของเครื่องจักรภายในโรงงานมาเกี่ยวข้องว่าสามารถรองรับการผลิตต่อวันได้เท่าไร หากผลิตมากเกินไปก็จะเป็นไปสินค้าที่เก็บค้างอยู่ในคลังสินค้า หากผลิตน้อยเกินไปก็อาจจะขาดตลาด ไม่มีสินค้าเพียงพอสำหรับการขายทำกำไรในช่วงที่มีโอกาส ความขาดๆเกินๆที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้จะสะท้อนออกมาในงบดุลและงบกำไรขาดทุนของบริษัทอย่างไม่น่าดูนัก ทำให้ย้อนกลับไปสู่หัวใจหลักของการจัดการโลจิสติกส์
คือ “Be in the right place at the right time”
Smart Warehouse คืออะไร (ทำไมต้อง Smart Warehouse)
Smart Warehouse คือการจัดการคลังสินค้าในรูปแบบที่ฉลาดล้ำ สามารถตรวจสอบ เคลื่อนย้ายสินค้า กระจายสินค้าด้วยการนำหุ่นยนต์อัจฉริยะมาช่วยกระบวนการเหล่านี้ให้มีความแม่นยำและสามารถส่งข้อมูลโดยอัตโนมัติ ทั้งหมดนี้เพื่อรายงานสถานการณ์ของคลังสินค้าได้แบบรวดเร็ว ช่วยลดความเสี่ยงในการตัดสินใจกับการออกนโยบายในการรับมือสถานการณ์ของคลังสินค้าได้ และยังช่วยนำข้อมูลเหล่านั้นมาต่อยอดวางแผนผ่านการคำนวณในรูปแบบต่างๆตั้งแต่ Descriptive Analytics, Diagnostic Analytics, Predictive Analytics มาจนถึง Prescriptive Analytics หรือถ้าจะให้เข้าใจง่ายมากขึ้นนั้นคือการนำข้อมูล (Information)
ที่อยู่ในคลังสินค้ามาคำนวณเพื่อผลลัพธ์สุดท้ายแล้วคือการหาจุดที่ดีที่สุดในการจัดการบริหารโลจิสติกส์นั้นเอง (Optimization)
ข้อมูลมหาศาลที่มาพร้อมกับ Smart Warehouse
ปกติการจัดการคลังสินค้า การจัดการพื้นที่การจัดเก็บ การจัดการจำนวนวัตถุดิบในการผลิต หรือการจัดการตรวจสอบสินค้าหมดอายุโดยไม่ได้เป็น Smart Warehouse ก็มีข้อมูลจากการประเภทต่างๆที่ถูกจัดเก็บมาเพื่อนำมาวิเคราะห์สถานการณ์ของคลังสินค้า และวางแผนในการขายและการจัดซื้ออยู่แล้ว เป็นงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับการคำนวณ วิเคราะห์ข้อมูลในคลังสินค้าอยู่เป็นปกติในสายงานนี้
แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามากขึ้น ความรู้ความเข้าใจหรือวิธีในการทำงานรูปแบบเดิมย่อมเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของบริษัทที่เปลี่ยนแปลงไป หากบริษัทที่ยังคงทำงานอยู่แบบเดิมนั้นอาจจะสรุปได้ไม่เต็มตัวว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือสิ่งที่ไม่ดี มันอาจจะดีกับพนักงานที่ไม่ต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน มันอาจจะไม่ดีกับผลประกอบการของบริษัทหากการจัดการโลจิสติกส์มีช่องโหว่บางอย่างอยู่โดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่ว่าคุณอยู่ในตำแหน่งอะไรขององค์กร เจ้าของกิจการ ผู้บริหารระดับสูง ผู้จัดการ หรือพนักงานใหม่ คุณสามารถเป็นจุดหนึ่งที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ธุรกิจได้ การทำงานแบบเดิมอาจจะทำให้บริษัทยังอยู่รอด แต่การปรับตัวกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปจะทำให้บริษัทเติบโตSmart Warehouse ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นนั้นขับเคลื่อนด้วยการจัดการคลังแบบอัตโนมัติ และสิ่งที่ตามมาคือมันจะรายงานผลเป็นข้อมูลจำนวนมหาศาล (Big Data) อีกทั้งข้อมูลยังรายงานเข้ามาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน (Streaming Data) หากผู้ที่อยู่ในสายงานนี้ยังไม่รู้วิธีที่จะรับมือกับมาก่อนอาจจะส่งผลกับธุรกิจที่พยายามจะเปลี่ยนถ่ายองค์กรให้เข้ากับยุคดิจิตัล (Digital Transformation) สะดุดลงเพียงเพราะบุคลากรยังไม่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงแต่เทคโนโลยีพร้อมแล้ว ด้วยเหตุนี้สาขาการจัดการโลจิสติกส์ นิด้า (LM NIDA) จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรด้านการจัดการโลจิสติกส์ให้พร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ด้วยการสร้าง Smart Logistic Lab
Smart Logistics Lab จึงเป็นดั่งห้องทดลองและเรียนรู้ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการการวางแผน ออกแบบ Smart Warehouse และจากนั้นก็พัฒนาความรู้ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) พร้อมกับการเรียนรู้การทำนายผลหรือพยากรณ์สถานการณ์ของคลังสินค้าในอนาคต จากข้อมูลที่มีอยู่ในอดีตของบริษัท (Historical Data) ผนวกกับข้อมูลแบบเรียลไทม์ (Real-time Data Analytics) เพื่อการตรวจสอบ เฝ้าระวังเหตุการณ์และความเสี่ยงต่างๆที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงจุด เพราะการคำนวณที่แม่นยำนั้นจะสะท้อนภาพรวม จนไปถึงภาพละเอียดของสถานการณ์ ทำให้ผู้ที่รับผิดชอบในส่วนต่างๆของคลังสินค้าและแผนกที่เกี่ยวข้องวางแผนรับมือได้อย่างถูกต้อง
รวมถึงการสร้างกลยุทธระยะยาวที่ได้จากข้อมูลที่เหมาะสม ควรลงทุนเพิ่มพื้นที่คลังสินค้าหรือไม่ ควรลงทุนเพิ่มการกระจายสินค้าหรือไม่ ควรจัดเก็บสินค้าและวัตถุดิบแต่ละประเภทเป็นสัดส่วนเท่าไร จะเห็นได้ว่าการวางแผนกลยุทธทางการจัดการโลจิสติกส์ระยะยาวที่ใช้เงินลงทุนมหาศาล ล้วนแล้วต้องการคำนวณเพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน และได้กำไรสูงที่สุดโดยใช้ต้นทุนที่ต่ำที่สุดในการลงทุน เพราะท้ายที่สุดแล้วหัวใจของการจัดการโลจิสติกส์ก็คือ “Be in the right place at the right time” นั้นหมายถึงการนำวัตถุดิบหรือสินค้าให้อยู่ถูกที่ถูกเวลาถูกจำนวนเพื่อประหยัดต้นทุนมากที่สุด
ที่มา : https://as.nida.ac.th/